RSS

คำถามที่ต้องตอบสังคม เมื่อ GMM Grammy แถลงข่าว ถอด MV บน Youtube

12 Aug

เป็นที่โจษจันวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างอื้ออึงบน Social Network หลังคุณกริช ทอมมัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GMM Grammy ประกาศว่าจะปลด MV บน youtube ด้วยเหตุผลที่ว่าป็นการปกป้องธุรกิจเพลง และอาชีพคนทำเพลงให้คงอยู่ต่อไป พร้อมอำนวยความสะดวกให้กับแฟนเพลงสามารถรับชม MV เพลงใหม่ได้ทางเวบ GMember.com ข่าวนี้สร้างความฉงนสงสัยต่อผู้คนทั่วไป เพราะว่าชีวิตทั้งเราท่านต่างก็เวียนวนเสพเพลงแกรมมี่ผ่านช่องทาง youtube เป็นช่องทางหลัก หากต้องเปลี่ยนพฤติกรรมในการรับชมและรับฟังก็เท่ากับเป็นการเริ่มนับหนึ่งใหม่

จะว่าไปแล้วการถอดถอนเพลงและ MV ตัวเต็ม หรือการเรียกร้องสิทธิ์ไม่ให้ Cover เพลงโดยไม่ได้รับอนุญาต ถือเป็นสิ่ง Grammy พึงกระทำได้ทางกฎหมาย แต่จะทำให้ใครเดือดร้อนหรือได้รับผลกระทบบ้าง อันนี้บริษัทแกรมมี่คงได้ประเมินสถานการณ์ไว้อย่างถี่ถ้วนดีแล้ว ตอนจบของกรณีศึกษานี้จะสวยหรือไม่สวย จะจัดการผลประโยชน์ลงตัวได้ในที่สุดหรือเปล่า เรื่องราวนี้น่าติดตามเป็นอย่างมาก

ภาพแถลงข่าวจาก GMember Website

บทความจุดประกายความคิด

หลังจากห่างหายกับการเขียนบทวิเคราะห์ทางการตลาดมานาน มาคราวนี้เรื่องมันโดนใจแถมยังถูกกระตุ้นรบเร้าโดยสังคมคนรอบข้าง เลยขอจัดไปหนึ่งดอกกับการเขียนบทความ ซึ่งได้ประมวลข้อมูลมาจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือหลายแห่ง ขอบคุณข้อมูลจากเวบไซต์ GMember.com, IT24Hrs, KafaakBlog, ZocialIncMarketing Hub, Blognone ที่กรุณาให้ผมคัดลอกเนื้อหาบางส่วนมาประกอบบทความนี้ให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น หากผมกระทำการใดที่เป็นการละเมิดสิทธิ์หรือผิดกฎหมายไม่ว่าจะด้วยเจตนาหรือไม่ก็ดี ผมยินดีแก้ไข ปรับปรุง หรือลบข้อความทิ้งโดยกรุณาแจ้งให้ทราบด้วยนะครับ

สำหรับใครที่ยังไม่ทราบเรื่องราวความเป็นมาของเรื่องนี้ ผมขออนุญาตไม่ลงรายละเอียดแต่อยากให้ท่านชมคลิปแถลงข่าวด้วยตัวท่านเองเลยครับ

ต่อจากนี้ผมขอเล่าเรื่องตามแบบฉบับของผมซึ่งเป็นความคิดเห็นตัว ซึ่งอาจมีสอดคล้องหรือขัดแย้งกับกูรูหลายท่านบ้าง เห็นด้วยหรือไม่ ไม่ว่ากัน แต่ขอวิจารณ์ด้วยเจตนาที่สร้างสรรค์ มิได้จ้องทำลายเพื่อให้เสียเกียรติแต่อย่างใด ดูหัวเรื่องจากแผนภาพที่ผมสร้างขึ้นจาก iMindMap6 ซึ่งโหลดมาใช้ถูกต้องตามกฎหมายนะครับ

แผนภาพ MindMap ประกอบการวิเคราะห์กรณี GMM Grammy ตัดสินใจถอด MV บน YouTube

มูลเหตุสำคัญที่ทำให้แกรมมี่ต้องถอด MV บน Youtube

1. สูญเสียรายได้จากการแบ่งค่าโฆษณาจาก YouTube และโอกาสในการสูญเสียรายได้จากการดาวน์โหลดเมื่อถูกละเมิดลิขสิทธิ์ผ่านช่องทางดังกล่าว

จากข้อมูลสถิติที่รวบรวมโดย ZocialRank  (ณ วันที่ 10 สิงหาคม) Grammy ถือเป็นค่ายที่มีจำนวนสมาชิก คนดูมหาศาล คือถ้ารวมตัวเลขของ GMM Grammy Official, ค่ายเพลง สนามหลวง (Sanamluang) และ เอ็กแซ็ก (Exact Channel) เข้าด้วยกัน แกรมมี่ถือเป็น MV Contributors ที่ทรงพลังมากๆ บน Youtube

  • คนดู (Views) รวม 601,999,729 (คิดเป็น 4.62% ของคนดู Youtube ทั้งประเทศไทย)
  • สมาชิก (Subcriber) รวม 548,266 (คิดเป็น 1.67% ของคนดู Youtube ทั้งประเทศไทย)
  • จำนวนวีดีโอ (VDO) รวม 2,795 วีดีโอ (คิดเป็น 0.23% ของคนดู Youtube ทั้งประเทศไทย)

ทว่า Grammy กลับไม่สามารถทำรายได้จากทาง YouTube โดยตรง เนื่องจากข้อจำกัดด้านกฎหมายคอมพิวเตอร์ (อ้างอิง พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550) ซึ่งต่างจากหลายประเทศที่กฎหมายนั้นมีความชัดเจนกว่าของไทย เอื้อให้ youtube นั้นทำธุรกิจในฐานะผู้ให้บริการรับฝากข้อมูลด้วยความสบายใจ ไม่ต้องหวั่นต่อการถูกฟ้องร้องในกรณีที่ผู้ใช้งานหรือ Subscriber นั้นละเมิดสิทธิ์

ในตอนหนึ่งของบทความใน #KafaakBlog ได้เขียนไว้น่าสนใจถึงสาเหตุที่ YouTube ไม่สามารถทำธุรกิจในไทยได้ (ขออนุญาต cover นะครับ)

ทำไม YouTube ถึงไม่สามารถทำธุรกิจในประเทศไทยได้?

อีกจุดสำคัญจากการแถลงข่าวของ GMM Grammy ก็คือ อยากทำธุรกิจร่วมกับ YouTube แต่ทว่า YouTube ไม่สามารถเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยได้ เนื่องจากติดด้วยกฎหมายไทยไม่เอื้อ … หลายๆ คน อาจจะส่งสัยว่ามันเป็นยังไงมายังไง … ตรงนี้เป็นผลมาจาก พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 น่ะครับ ซึ่งมาตรา 15 (ต้องอ่านมาตรา 14 ประกอบด้วยนะ) ระบุเอาไว้แบบนี้

“ผู้ให้บริการผู้ใดจงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา 14 ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดตามมาตรา 14″

ซึ่งเผอิญมีตัวอย่างของเว็บมาสเตอร์ประชาไทที่โดนดำเนินคดี เพราะข้อความที่ผู้เยี่ยมชมเว็บโพสต์เอาไว้นั้นผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 … ซึ่งข้อเท็จจริงคือข้อความดังกล่าวคงอยู่ในเว็บมา 20 วันแล้ว ศาลจึงพิจารณาว่านานพอที่เว็บมาสเตอร์จะต้องรับรู้แล้วว่ามีข้อความนั้นอยู่ (คือ ตามกฎหมายไม่ได้ระบุจำนวนวันเอาไว้ชัดเจน) จึงมองว่าเว็บมาสเตอร์มีความผิดจริงตามมาตรา 15

และกรณีนี้แหละครับ ที่ทำให้  YouTube เป็นกังวลและมองว่ากฎหมายไทยไม่เอื้อต่อการทำธุรกิจของ YouTube (ทาง Google ประเทศไทยเอง ก็มีบล็อกที่เขียนวิพากษ์วิจารณ์กฎหมายไทยเอาไว้) เพราะในฐานะผู้ให้บริการรับฝากเนื้อหาที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมากๆๆๆ ถ้าเกิดดันมีใครซักคนที่ฝากเนื้อหาที่ผิดกฎหมายเอาไว้ มันก็เป็นการยากที่ YouTube จะตรวจพบและลบออกได้ทันเวลา ดังนั้นก็เสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดีได้ตลอด จึงเลือกที่จะไม่ทำธุรกิจในไทย อย่างน้อยก็จนกว่ากฎหมายไทยจะมีการปรับปรุงให้เหมาะสม และเอื้อต่อการเข้ามาทำธุรกิจครับ

2. เกิดกระแสการรับรู้ถึงช่องทางที่ Grammy ต้องการสื่อสารให้ผู้บริโภครับรู้

เมื่อ Grammy ทยอยลบ MV ตัวเต็มออกจาก YouTube  แล้ว ผลที่ตามมาก็คือคนต้องตามไปดูในเวบของ www.gmember.com ซึ่งคุณกริชบอกว่าสามารถรองรับได้ถึง 10,000 คนต่อวินาที ต้องคอยจับตาดูว่าคนจะยอมเปลี่ยนพฤติกรรมในการกดลิงค์ออกจาก youtube แล้วไปโผล่ที่เวบไซต์ของแกรมมี่ได้หรือไม่ และต่อให้แกรมมี่สามารถรองรับปริมาณการเข้าชมจำนวนมากๆในคราวเดียวได้จริง สมาชิกจะหลงไหลได้ปลื้มอยู่บนเวบที่ได้ชื่อว่ามีแต่เพลงของเธอ เธอ และเธอ เท่านั้นได้รึเปล่า การแย่งความสนใจผู้ชมจาก Youtube ซึ่งนับว่าเป็นเจ้าพ่อด้านการรับฝาก Content ประเภทภาพเคลื่อนไหวนั้นไม่ง่าย แต่แกรมมี่ก็เริ่มชิมลางโดยการแหย่ขาข้างหนึ่งออกมา โดยยังคงเก็บ VDO Teaser/Trailer ต่างๆ ไว้ โดยหวังใจว่า Traffic บน GMember นั้นจะพุ่งกระฉูดขึ้นมา

นอกจากนี้ในส่วนของการหารายได้จากการดาวน์โหลด ล่าสุดแกรมมี่ได้เปิดช่องทาง ITunes เพื่อให้แฟนเพลงในไทยสามารถเข้าไปดาวน์โหลดได้แล้ว แกรมมี่คาดว่าถึงสิ้นปีนี้น่าจะมียอดดาวน์โหลดกว่า 5 แสนครั้ง คิดอัตราการดาวน์โหลดที่ $0.99 หรือ 30 บาทต่อเพลง ก็น่าทำรายได้ประมาณ 15,000,000 บาท มีหลายคนยังบ่นอุบว่าแพงมาก เพราะถ้าเทียบแล้วก็เท่ากับหรือแพงกว่าซื้ออัลบั้มซีดีเต็มซะอีก

ภาพจาก Gblog ของ gmember

3. การสร้างความได้เปรียบจากการเป็นผู้นำสร้างกฎเกณฑ์และกลไกทางการตลาด

แรงจูงใจอีกประการหนึ่งคือ “การสร้างอำนาจการต่อรองในธุรกิจวงการบันเทิง” ที่นับวันมีปัจจัยภายนอกและภายในที่ส่งผลกระทบต่อความอยู่รอดและผลกำไรของผู้ถือหุ้นค่อนข้างมากพอสมควร แต่ประเด็นคือ Business Model ของแกรมมี่นั้นเริ่มเป๋ เหตุจากโครงสร้างรายได้นั้นเปลี่ยนไป เชื่อหรือไม่ว่าธุรกิจเพลงและละครนั้นมีอัตราการเติบโตที่น่าเป็นห่วง จากการรายงานผลประกอบการในไตรมาสแรกของปีนี้ (อ้างอิงจาก Presentation ของ GMM Grammy)

  • ธุรกิจสื่อนั้นโตขึ้น 25% (จาก Event ซะส่วนใหญ่)
  • ธุรกิจภาพยนตร์โตขึ้น 92% (จากหนัง ATM เออรักเอเร่อซึ่งทำรายได้เกิน 100 ล้านบาท)
  • ธุรกิจสื่อดาวเทียมโตขึ้น 120% (จากการขายกล่อง GMMZ ช่วงฟุตบอลยูโร)
  • ในขณะที่เพลงและละคร เป็นกลุ่มธุรกิจเดียวที่มีอัตราการเติบโตถดถอย -0.8%

ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าตั้งแต่บริษัทจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ (GMM Grammy) ก่อตั้งขึ้นในปี 2526 Business Model ได้เปลี่ยนมาเรื่อยๆ

(เพื่อนๆ สามารถอ้างอิงข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับบริษัทแกรมมี่ และ รายชื่อกลุ่มบริษัทในเครือ ได้ตามลิงค์นี้เลยครับ)

เกริ่นนำมาพอสมควรสิ่งที่ผมคิดว่าน่าคิดคือ หมากที่แกรมมี่วางไว้ไม่ว่าจะเป็นการตั้งบริษัท จีเอ็มเอ็ม แซท การรุกคืบซื้อกิจการคนโน้นคนนี้มา ทั้งนี้ก็เพื่อการเพิ่มอำนาจการต่อรองแล้ว และบริหารจัดการธุรกิจบันเทิงนั้นแบบเบ็ดเสร็จ นั่นคือการเป็นทั้ง Platform Operator, Content Provider และ Media Channel  โดยมี GMM Z จิ๊กซอ Platform ตัวใหม่ ธุรกิจดาวรุ่งที่ทำให้ GMM Grammy ไม่ต้องง้อรอผังรายการอนุมัติจากช่องต่างๆ นั่นเอง ธุรกิจดาวเทียมนั้นถือได้ว่ากำลังคืบคลานเข้ามาแทนที่ทีวีสาธารณะซึ่งกำลังหนีตายอยู่ เหตุเพราะกลัวส่วนแบ่งงบโฆษณาจะถูกเฉือนไปให้กับดาวเทียมและสื่อดิจิตอลทั้งหลาย งานนี้ True Vision ก็เดือดร้อนไม่แพ้กัน เมื่อช่วงบอลยูโรที่ผ่านมาสมาชิกต่างโอดครวญย้ายค่ายกันไปก็เยอะเพราะกรณีจอดำที่กลายเป็นข่าวดราม่าสุดฮ๊อตประจำปี วงการสื่อบ้านเราจะเป็นอย่างไร ต้องติดตามดูชมกันอย่างใกล้ชิดครับ

เรื่องการพัฒนา Content อันนี้ไม่ต้องพูดถึงเพราะแกรมมี่มีบริษัทที่จัดหาและปั้นศิลปินตลอดจนผลิตรายการวิทยุ โทรทัศน์ หนัง เพลง อีเวนต์ เรียกได้ว่าครบเครื่องแบบไม่ต้องง้อใครมานานแล้ว ส่วน Media ต่างๆ ก็ทยอยซื้อมาเติมเต็มจนเกือบครบ ตั้งแต่สัมปทานจัดรายการวิทยุ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ ตลอดจนหนังสือพิมพ์ แม๊กกาซีน เวบไซต์ และสื่อดิจิตอลต่างๆ

เห็นโครงสร้างสัดส่วนรายได้แล้วก็พอจะเดาได้ว่า เพลง ละคร หนัง และคอนเทนต์ต่างๆ กำลังจะกลายเป็น Loss Leader Business ที่เอื้อให้ธุรกิจอื่นๆ เติบโตโดยเฉพาะ สื่อ อีเวนต์ และคอนเสิร์ต จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจที่จะเห็นความพยายามของแกรมมี่ในการบริหารจัดการต้นทุนของธุรกิจ Music & Showbiz ให้อยู่ในเกณฑ์ที่ไม่เจ็บตัว แต่ถ้าเจ็บตัวต้องหาอย่างอื่นมากลบจนคุ้ม ไม่ว่าจะเป็นการหารายได้จากการขาย Sponsorship ในละครและภาพยนตร์ การกินค่าโสหุ้ยของการใช้ศิลปินในค่าย ตลอดจนผลงานต่างๆ ในเชิงพาณิชย์ชนิดเต็มรูปแบบ คิดยุบคิดยับจนทำให้แกรมมี่เริ่มติดภาพลบของการเป็นมาเฟียวงการบันเทิงที่เน้นหารายได้มากกว่าการเติบโตแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย

ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากเหตุการณ์ครั้งนี้

ถ้าให้ประเมินว่าใครบ้างที่ถือว่ามีส่วนได้เสียจากการตัดสินใจของค่ายแกรมมี่ หลักๆ แล้วผมว่ามี 4  กลุ่มด้วยกัน คือตัวศิลปินในค่ายเอง บริษัทที่เป็นคู่ค้าพันธมิตรกับแกรมมี่ ตัวผู้บริโภค (ทั้งที่เป็นลูกค้าหลักและลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย) และคู่แข่ง

  • ศิลปินในค่าย: สิ่งที่เกิดขึ้นแน่ๆ คือเหตุการณ์นี้อาจส่งผลถึงแผนการโปรโมตตัวศิลปินผ่าน MV ที่เคย Upload บน Youtube ถ้าเป็นสมัยก่อนเราคงไม่แคร์ เพราะเราดู MV กันทางโทรทัศน์ แต่เดียวนี้ศิลปินไหนฮ๊อตไม่ฮ๊อตมักถูกตัดสินกันบนยอดชม (views) บน Youtube ถ้ายอดวิวตกเมื่อไหร่นั่นหมายถึงมันจะส่งผลถึงยอดขายของแผ่น CD ยอดดาวน์โหลด และงานของศิลปินด้วย เหตุการณ์ครั้งนี้ผิวเผินอาจดูไม่ค่อยเกี่ยวกับศิลปิน แต่แท้ที่จริงแล้ว ความระส่ำด้านวัฒนธรรมของคนองค์กรในแกรมมี่ที่มีมาอย่างต่อเนื่องนั้นอาจส่งผลให้เกิดวิกฤตศรัทธาที่เป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้น ศิลปินคนไหนที่มีทางเลือก ก็อาจต้องเริ่มคิดหนักขึ้นหากต้องร่วมงานกับค่ายเพลงที่คำนึงถึงผลกำไรของบริษัทระยะสั้นมากกว่าการครองใจของมหาชนในระยะยาว
  • คู่ค้าพันธมิตร: ใครที่เคยร่วมงานกับแกรมมี่มาก่อนจะทราบดีถึงระบบระเบียบในการคิดอัตราค่าจ้าง (ที่ค่อนข้างแพง) มาตรฐานการแบ่งรายได้และการคาดหวังผลลัพธ์ที่ไม่ค่อยยืดหยุ่น ใครทำงานด้วยต้องละเอียดรอบคอบ เพราะส่วนใหญ่จะเสียเปรียบมากกว่าได้เปรียบกับการทำการค้าร่วมกับบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับนี้
  • ผู้บริโภค: ผู้คนทั่วไปยังคงชื่นชอบในตัวศิลปิน และคุณภาพผลงานของค่ายนี้ เหตุการณ์นี้เป็นแค่จุดเริ่มต้นที่ทำให้ผู้คนเริ่มเกิดอาการงอนเหมือนคนถูกริบของเล่น ไม่ให้ยังไม่ว่า แต่ถ้าให้แล้วริบคืนอันนี้คงของขึ้นเป็นธรรมดา งานนี้คนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงน่าจะเป็นผู้บริโภคขั้นเทพ คือคนที่นอกจากไม่ได้ซื้อแผ่นลิขสิทธิ์ หรือโหลดเพลงตามช่องทางที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ยังนำเพลงของค่ายนี้ไปใช้โดยไม่ได้ขออนุญาต แถมยังอาจสร้างรายได้จากการทำซ้ำ คัดลอก หรือดัดแปลงเนื้อหาบางส่วนเพื่อประโยชน์เชิงพาณิชย์ ว่าด้วยหลักของกฎหมายแล้วยังไงก็คงผิด แต่อยู่ที่ว่าแกรมมี่จะเอาจริงเอาจังในการตามจับ ตามลบคลิปเพลงต่างๆ ที่เข้าข่ายว่า “Cover” หรือไม่
  • คู่แข่ง: งานนี้คู่แข่งอาจไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะไม่กะว่าจะได้รายได้จากช่องทางนี้อยู่แล้ว หรือไม่ก็ไม่มีอำนาจต่อรองเท่า ในทางกลับกันหากการเจรจาต่อรองกับ Youtube เป็นผลสำเร็จ คู่แข่งรายถัดไปอย่าง RS อาจได้อานิสงส์นั้นไปด้วย แต่ถ้าไม่สำเร็จหรือแฟนคลับแกรมมี่ไม่ปลื้ม RS ก็ยินดีต้อนรับน้องใหม่ด้วยความเต็มใจ (และจากข้อมูลของ ZocialRank ยอดวิวของ RS ณ วันที่ 14 สิงหาคมนั้นได้แซง Grammy Official ไปเรียบร้อยโรงเรียนเฮียฮ้อแล้วครับ)

ทางออกที่รอคำตัดสินจากสังคม

ด้วยวิจารณญาณของแต่ละฝ่าย ผมเชื่อว่าทุกคนพยายามทำดีที่สุดแล้ว แต่ว่าคำตอบที่ได้นั้นถูกใจหรือบาดใจใครมากน้อยขนาดไหนก็ขึ้นอยู่ความเสียหายนั้นอยู่ในเกณฑ์ที่พอรับได้หรือไม่ ผมเคารพในการตัดสินใจของผู้บริหารแกรมมี่เพราะเขาก็เสียหายจากรายได้ที่พึงได้รับจากส่วนแบ่งโฆษณานั้นจริง ลิขสิทธิ์ผลงานเพลงต่างๆ ที่ผลิตขึ้นด้วยความชอบธรรมก็ควรได้รับการดูแล แต่การทำธุรกิจที่ไม่ได้มองให้ครบด้านนั้นมันส่งผลถึง Good Will หรือชื่อเสียงในระยะยาวเหมือนกัน คนไทยทั้งประเทศยินดีที่สนับสนุนผลงานของศิลปินไทยค่ายเพลงของคนไทย หากเขาพึงพอใจในคุณภาพของผลงานในราคาที่เป็นธรรม ตัวเลขบางตัวอาจไม่ได้ถูกบันทึกไว้ในผลประกอบการ แต่มันส่งผลทางจิตใจถึงกระแสนิยม ความชื่นชมในคุณค่าและจรรยาบรรณความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจ

วันนี้ที่สังคมมันเริ่มอยู่ยากขึ้นเพราะว่าเราจัดการแบ่งผลประโยชน์กันไม่ลงตัว หากทุกคนคิดแต่จะได้โดยไม่คิดที่จะให้ สุดท้ายน้ำใจมันคงค่อยๆ เหือดหายไปจนสิ้น หากคนหนึ่งเสียใจในขณะที่อีกคนไม่แคร์ ข้อตกลงก็คงปลงใจกันไม่ได้ มาช่วยกันทำให้สังคมนี้มันมีจุดร่วมโดยตัดคำว่าได้เปรียบและเสียเปรียบออกไป แค่ต่างคนต่างเอาใจมากอง คำว่าปรองดองมันคงไม่มักง่ายเกินไป

กลับตัวก็ไม่ยากจะไปยังไงก็ไปไม่ถึง

หลังจากแกรมมี่ได้แถลงข่าวช่วงออกไปประมาณอาทิตย์กว่าๆ มีผู้คนมากมายเฝ้าจับตาดูว่า แกรมมี่จะไปได้รอดหรือไม่กับการบิวด์ให้แฟนเพลงหันมาดู MV หรือดาวน์โหลดเพลงบนเวบ Gmember แทน Youtube เพียงชั่วไม่เกินข้ามสัปดาห์ ยอดวิวของ GMM Grammy Official ก็ตกเอาตกเอาจน RSVDO กระโดดขึ้นมาแซงหน้าได้อย่างง่ายดาย แม้ว่าจะมีจำนวนสมาชิกน้อยกว่าถึง 2 เท่าตัวก็ตาม

กอปรกับปัญหาด้านเทคนิคเกี่ยวกับวิธีการทำ VDO streaming ที่อาจถือเป็นการผิดเงื่อนไขหรือกฎเกณฑ์ของ Youtube ในกรณีที่ GMM Grammy Official ใช้วิธีเชื่อมโยงเวบด้วยอีกบัญชีหนึ่ง (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก Blognone ครับ)

อย่างไรก็ดี ตอนนี้ Grammy ก็ได้ตัดสินใจกลับมาโหลด MV ขึ้นบน Youtube ดังเดิมแล้ว นับว่าเป็นการชิมลางที่เสียหน้าพอสมควรเมื่อเทียบกับกระแสสังคม และความผิดพลาดที่เกิดจากการไม่ได้ประเมินความผลได้ผลเสียให้รอบคอบก่อนตัดสินใจดำเนินการ บทเรียนนี้สอนให้รู้ว่าเมื่อก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่งของวงการแล้ว ความยากไม่ได้อยู่ตรงที่ความสามารถในการรักษาตำแหน่งเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องระมัดระวังและรอบคอบมากยิ่งขึ้น เพราะสังคมรอบด้านจะคอยจับตาดูคุณตลอดเวลา และโดยเฉพาะคู่แข่งรายถัดไปนั้นพร้อมที่จะฉกโอกาสไปจากคุณเมื่อคุณแผ่วหรือเพลี่ยงพล้ำขึ้นมา

ข้อคิดท้ายบทความ

จากปรากฎการณ์จอดำในช่วงบอลยูโร จนมาถึงเรื่องการถอด MV บน youtube ถือเป็นดราม่าทางธุรกิจที่มีให้เห็นให้ดูกันบ่อยขึ้น หลายคนอาจมองว่ามันเป็นกลไกลของการดำเนินธุรกิจที่ต้องการเอาชนะข้อจำกัดบางอย่างที่คู่แข่งหรือผู้บริโภคเป็นคนสร้างขึ้น ซึ่งก็มีส่วนจริงอยู่ แต่ผมมองว่าบางเรื่องอาจเป็นเรื่องที่ตระเตรียมไว้อยู่แล้ว แค่รอจังหวะในการรุกหรือช่วงชิงความเป็นที่หนึ่งในขณะที่ยังคงความได้เปรียบอยู่ ตราบใดที่บารมีในเชิงธุรกิจของผู้ประกอบการรายใหญ่ (Bargaining Power of Business Operator) ยังอยู่เหนืออำนาจการต่อรองของผู้บริโภค (ฺBargaining Power of Consumers) ธุรกิจอาจจะยังคงเฟื่องฟูอยู่ได้แม้ว่าหลายนโยบายอาจจะดูสวนกระแสสังคมไปบ้าง แต่เมื่อไรที่คู่แข่งรายถัดไป (The Second Best Player) สามารถนำเสนอทางเลือกที่ดีกว่าจนทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจย้ายค่ายแบบไม่ใยดี ทีนี้ความสามารถในการบริหารจัดการวิกฤตของเบอร์หนึ่งนั้นจะส่งผลต่อความมั่นคงของธุรกิจในระยะยาวทันที ตัวอย่างที่มีให้เห็นกันจะๆ อย่างกรณีองค์กรระดับโลกที่ต่างสาดโคลนใส่กันไปมา คือ Apple Vs Samsung, Facebook Vs Google, Coke Vs Pepsi ส่วนในไทยก็มี Oishi Vs Ichitan, Tesco Vs BigC, AIs Vs dtac Vs True Move

ในช่วงท้ายนี้ผมแค่ต้องการชี้ประเด็นว่าการแข่งขันในยุคปัจจุบันนั้นไม่ใช่แค่เกมช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาดเท่านั้น (Market Share) แต่เป็นเกมช่วงชิงส่วนแบ่งในใจลูกค้า (Mind Share) ไปด้วยในคราวเดียวกัน หากละเลยอย่างใดอย่างหนึ่งโอกาสในการร่วงลงมาจากตำแหน่งเพราะสะดุดเท้าตัวเองนั้นมีความเป็นไปได้สูงมาก เพราะผู้บริโภคสมัยนี้ไม่ได้เพียงบริโภคสินค้าเท่านั้น แต่บริโภคประสบการณ์ และความรู้สึกไปพร้อมกัน พอใจก็ชม (ในใจ) ไม่ถูกใจก็ด่า (ในที่สาธารณะ) เอาใจยากสักนิด แต่ถ้ารู้ Tactic ก็สามารถครองความเป็นหนึ่งได้ยาว นาน และทน

 

Tags: , , , , , , , , , , , , , , ,

2 responses to “คำถามที่ต้องตอบสังคม เมื่อ GMM Grammy แถลงข่าว ถอด MV บน Youtube

  1. himalayana

    August 14, 2012 at 8:10 pm

    บังเอิญเข้ามาเจองานเขียนที่ได้แง่คิดและมุมมองที่ไม่เคยเห็น
    จึงได้ติดตามอ่านอยู่เรื่อยๆ
    ยอมรับว่า ได้ทั้งประโยชน์และความสุขจากการอ่านblog “ที่นี่มีเรื่องเล่า”

     
    • @somchartlee

      August 15, 2012 at 12:53 am

      ดีใจที่ชอบ ขอบคุณที่ติดตามอ่านครับ 🙂

       

Leave a comment