RSS

Tag Archives: การประกวดร้องเพลง

Case Study: The Voice Thailand – เสียงจริง ตัวจริง

กระแส The Voice มาแรงจนอดไม่ได้ที่จะพูดถึง เพราะเราเองก็คือหนึ่งในผู้ชมที่คอยติดตามดูอย่างบ้าคลั่ง The Voice มีความเป็นมายังไง ส่วนผสมอะไรคือหัวใจที่ทำให้รายการนี้ติดลมบน อะไรที่เวิร์คและไม่เวิร์คเดี๋ยวตามมาดูกัน

หลายคนคงเคยแอบฝันว่าสักวันฉันจะเป็นดาวโดดเด่นโด่งดังให้ได้ อยากเล่นหนังเล่นละครสักเรื่อง (เป็นตัวประกอบก็เอา) ออกอัลบั้มเพลงสักหน (เป็นคอรัสก็ได้) ขึ้นปกแมกกาซีนสักครั้ง (อยู่บนสันปกก็ยังดี) หรืออย่างน้อยก็ขอให้ได้ออกทีวีกับเขาสักครั้งในชีวิต (แม้จะไม่มีบทพูดใดๆ ก็ตาม) แต่โชคไม่ดีที่คนเหล่านั้นไม่ได้มีแพคเกจสูตรสำเร็จเข้าขั้นที่จะเป็นศิลปิน นักร้อง นักแสดง ในสังกัดค่ายดัง

ลองเช็คดูตัวเองกันสักหน่อยมั๊ยครับว่าคุณพอจะมีคุณสมบัติที่พร้อมถูกปล้ำ เฮ้ย!!! ถูกปั้นรึเปล่า?

คุณคือตัวจริงหรือเปล่า?

  • เกิดมาหน้าตาดีอย่างช่วยไม่ได้ (ถ้าคุณไม่เคยถูกแมวมองตามจีบ แสดงว่าคุณยังหน้าตาดีไม่พอ)
  • มีความสามารถพิเศษขั้นเทพ (ถ้าคุณไม่เคยชนะการประกวดใดๆ เลย แสดงว่าความสามารถคุณยังพิเศษไม่พอ)
  • อยู่ในวัยเอ๊าะอายุไม่เกิน 25 ปี (สมัยนี้ถ้าอายุขึ้นเลข 3 ในวงการบันเทิงเขาเรียกว่าแก่ คงยากต่อการหาพ่อยกแม่ยกมาอุปถัมภ์ค้ำชู)
  • มีป๋าดันหรือเจ๊ดันอยู่เบื้องหลัง (ถ้าไม่มีพี่ป้าน้าอาหรือรุ่นพี่อยู่ในวงการ คงต้องรอคิวถูกปั้นจนคางเหลือง)
  • มีความกล้าและดันทุรังสูงกว่าคนปกติทั่วไป (ถ้าคุณเป็นคนขี้อาย ไม่เคยทำอะไรอุบาทว์ๆ ในชีวิต คุณคงจะหาที่ยืนยากในหมู่คนที่มีความติสท์ ความเวอร์ อยู่ในสายเลือด)
  • เป็นคนของประชาชน (ถ้าคุณเป็นคนมีโลกส่วนตัวสูง คุณคงไม่ปลื้มกับการเปลืองตัวเพื่อมวลชน และคงรับไม่ได้กับการถูกแฉ ขุดคุ้ย เรื่องราวและประวัติส่วนตัวในอดีตที่คุณไม่ต้องการเปิดเผย)

ถ้าคุณมีไม่เกินครึ่งของคุณสมบัติที่กล่าวมาทั้งหมด ให้หายใจลึกๆ มุ่งหน้าตามหาฝันต่อไป…ทาเคชิ แต่ถ้ายังไม่สำเร็จในรุ่นคุณ คุณยังพอมีโอกาสปั้นลูกหลานขึ้นมาทำภาระกิจนั้นแทน

ผมมีข่าวร้ายและข่าวดีจะมาบอก เริ่มจากข่าวร้ายก่อน “เด็กวัยรุ่นสมัยนี้ส่วนใหญ่มันหน้าตาดีก็จริง แต่ว่ามีอายุขัยสั้น เล่นละครเรื่องเดียว ออกอัลบั้มครั้งเดียว อาจดับไปเลยก็ได้ คู่แข่งเยอะกว่าแต่ก่อนมาก” ข่าวดีก็คือ “ตอนนี้มันเริ่มพอมีช่องว่างสำหรับของแปลก ถึงป๋าและเจ๊จะไม่ดัน แต่ถ้าเพื่อนๆ ช่วยกันดันผ่าน Social Network โอกาสในการแจ้งเกิดก็ใช่ว่าจะไม่มีเลยซะทีเดียว”

เมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมานอกจากละครหลังข่าวแล้ว ก็เห็นจะมีแต่เกมโชว์ วาไรตี้โชว์ที่มีคนดูมากมาย คงไม่ต้องบอกนะว่าใครเกิดมาทันยุคมาตามนัด พลิ๊กล๊อค ประตูดวง สี่ทุ่มสแควร์ สมัยนี้หาเกมโชว์ที่มีอายุเป็นสิบปีคงไม่มีแล้ว ในยุคหลังละครซิทคอมก็มาแรงเสียเหลือเกิน เพราะว่านอกจากจะสร้างอารมณ์ขันได้ไม่เบาแล้ว ยังเป็นการเปิดช่องให้ผู้ผลิตสอดแทรกสินค้าต่างๆ เข้าไปในฉาก นับเป็นวิธีทำมาหากินที่เลิศมาก ศัพท์การตลาดเขาเรียกกันว่า Product Placement

จนมาถึงถึงยุคที่ใครๆ ก็บ้าคลั่งกับ กระแสเรียลลิตี้โชว์ (Reality Show) ผู้ผลิตรายการในเมืองไทยซื้อลิขสิทธิ์มาอยู่หลายรายการ เวิร์คบ้าง ไม่เวิร์คบ้าง บางอันก็ก๊อปปี้เขามาเกือบจะทั้งดุ้น จากจำนวนรายการ Reality ที่มีอยู่หลายสิบรายการ ที่ดังเป็นพลุแตก เห็นจะเป็นอะไรไม่ได้ ถ้าไม่ใช่ เดอะสตาร์ ค้นฟ้าคว้าดาว (The Star), ทรู อคาเดมี่ แฟนเทเชีย (True Academy Fantasia),  ไทยแลนด์ก็อตทาเลนต์ พรสวรรค์ บันดาลชีวิต (Thailand’s Got Talent) แปลกแต่จริงทั้ง 3 รายการเป็น Reality Show ที่เน้นเรื่องการร้องเพลงทั้งนั้น เดอะสตาร์จบไปแล้ว 8 รุ่น, AF 9 รุ่น, TGT 2 รุ่น แต่ The Voice รายการน้องใหม่ที่เพิ่งจะเปิดตัวเป็นปีแรก Season แรกก็ดังเปรี้ยงปร้างแล้ว จะอยู่ยงคงกระพันและคงความสดได้นานเหมือนรายการรุ่นพี่หรือไม่ คงต้องติดตามกันไปยาวๆ

The Voice เสียงนี้มีที่มา

รายการ The Voice เป็นรายการประกวดร้องเพลง Talent Show ที่ถูกคิดค้นโดยนายจอห์น เดอ โมล (John De Mol) ชาวดัตช์ (ประเทศเนเธอร์แลนด์) หลังจากนั้นลิขสิทธิ์ก็ถูกขายไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงที่ UK ทีี่ออกมาเบียดรายการ  British Got Talent ที่เคยทำให้ Sunsan Boyle โด่งดังมาแล้วทั่วโลก (อ่านที่มาของรายการ The Voice Holland และ The Voice UK ได้จาก Wikipedia ครับ) แต่ก็ได้ยินมาว่า The Voice USA นั้นก็เรตติ้งสูงไม่แพ้ชาติอื่น เพราะมีโค้ชที่มีชื่อเสียงหลายคนมาร่วม featuring ไม่ว่าจะเป็น Christina Aguilera, Cee Lo Green, Blake Shelton และ Adam Levine

ส่วน The Voice Thailand เสียงจริง ตัวจริง คือรายการประกวดร้องเพลง ผลิตโดย ทรู มิวสิก และโต๊ะกลมโทรทัศน์ ในเครือ เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ โดยซื้อลิขสิทธิ์จากทัลปา มีเดีย กรุ๊ป ประเทศเนเธอร์แลนด์

(disclaimer: เนื้อหา ภาพ และข้อมูลบางส่วน ผู้เขียนอ้างอิงมาจากเวบ The Voice Thailand ส่วนบทวิเคราะห์และข้อคิดเห็นอื่นๆ ผมเขียนตามความรู้สึกในฐานะผู้ชม และนักการตลาด โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่านนะครับ)

รายการนี้แตกต่างจากการประกวดเพื่อค้นหาศิลปินทั่วไปตรงที่เน้นพิจารณาจาก “เสียงร้อง” เป็นหลัก โดยมีศิลปินตัวจริงในวงการเพลง 4 คนมาเป็นโค้ชให้ ได้แก่แสตมป์, โจอี้บอย, เจนนิเฟอร์ คิ้ม และก้อง สหรัฐ

ส่วนการแข่งขันนั้นแบ่งออกเป็น 3 รอบ

1st Round (รอบ Blind Audition)

โค้ชทั้ง 4 คนจะต้องเลือกเฟ้นผู้เข้าแข่งขันเข้าทีมตัวเอง โดยต้องนั่งหันหลังให้กับผู้แข่งขันโดยใช้หูทิพย์เป็นเครื่องตัดสินว่าควรจะกดปุ่มหันเก้าอี้มาดูหน้าคนร้องหรือไม่ ถ้าเกิดมีโค้ชมากกว่าหนึ่งคนที่เลือกผู้เข้าแข่งขันคนเดียวกัน สิทธิ์นั้นจะตกอยู่ในมือผู้แข่งขันทันที ว่าจะเลือกอยู่กับโค้ชคนไหน แต่ถ้าเกิดไม่มีโค้ชคนไหนกดปุ่มเลยสักคน เมื่อเพลงจบผู้แข่งขันก็จะตกรอบทันที จากสถิติในรอบนี้มีผู้เข้าแข่งขันที่ทำเอาโค้ชทั้ง 4 กดปุ่มแย่งตัวกันอยู่หลายคน เช่น คุณคิง กับเพลง I don’t wanna miss a thing, ตี๋ กับ I’m Yours, กบ Just the way you are, จังโก้-เคี้ยง โดราเอมอน/เจงกิสข่าน, คุณตุลย์ Mercy, คุณกลม Nobody…

ในรอบนี้เป็นรอบที่ผมชอบมากที่สุด เพราะว่าผู้เข้าแข่งขันทุกคนเตรียมตัวมาดี เลือกเพลงที่เข้าปากและบุคลิกตัวเองมากที่สุด แม้ว่าโค้ชจะไม่เห็นด้วย แต่ผมคิดว่าคุณทุกคนได้เอาชนะใจคนดูได้ทั้งประเทศ ขอชื่นชมด้วยความรู้สึกปนอิจฉาเล็กๆ ครับ 555

   

2nd Round (รอบ Battle)

ในรอบนี้โค้ชแต่ละคนจะจับคู่ลูกทีมของตัวเองมาประชันในการร้องเพลงเดียวกันเพื่อคัดออกให้เหลือเพียง 6 คนต่อทีม ระหว่างนี้โค้ชและผู้ช่วยจะเป็นคนเลือกเพลงและคอยให้คำปรึกษาในการออกแบบการแสดง โชว์จะออกมาดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่าผู้เข้าแข่งขันสามารถตีโจทย์เพลงที่ได้รับได้ดีแค่ไหน บางโชว์นับว่าเชือดเฉือนและสูสีมาก นำมาซึ่งความลำบากใจของโค้ชในการคัดตัวออก ส่วนบางโชว์ดูแล้วก็อึดอัดเพราะผู้เข้าแข่งขันต่างคนต่างพยายามควักเทคนิคการร้องขั้นสูงมาข่มกันเอง ในช่วง 2-3 อาทิตย์ที่ผ่านมามีหลายโชว์ที่ดูแล้วค่อนข้างประทับใจ อย่างโชว์ของคุณคิงและคุณเหน่งที่มาประชันเสียงร็อคในเพลงฤดูที่ฉันเหงา อันนี้ต้องยกเครดิตให้โค้ชแสตมป์ ที่เลือกเพลงได้เหมาะกับทั้งคู่มาก ส่วนโชว์ Dance little Lady dance ของคุณเกล คุณสุเมธ และกีตาร์ ก็เป็นอีกโชว์ที่ผมชอบ ทุกคนมีความมืออาชีพมาก แม้จะถูกเรียกว่าเป็นโชว์ส่งน้องก็ตาม ส่วนโชว์ของโจ้-เอก Vs จ๊ะจ๋า อ๋อมแอ๋ม เป็นโชว์ที่ฟังแล้วไม่เครียดที่สุด ถ้าจะเครียดคือไม่รู้จะเลือกฟากไหนดี แต่ในวีคที่ 3 นี้ โชว์ที่ผมชอบเป็นการส่วนตัวคือ คนหนังเหนียว ของพี่แอ๊ด ที่ร้องโดยคุณเอกและโอ๊ต

ในรอบ Battle นี้ ถือเป็นรอบที่ทำให้โค้ชลำบากใจมากเพราะต้องจำใจคัดผู้เข้าแข่งขันออกกว่าครึ่ง ในขณะที่ผู้ชมก็รู้สึกเสียดายที่ต้องเห็นคนที่ตัวเองชื่นชอบต้องเดินคอตกกลับบ้านไป ไม่ใช่เพราะความสามารถไม่ถึง แต่เป็นเพราะได้คู่ เพลง หรือท่อนส่งที่ไม่แมตช์กับสไตล์ของตัวเอง

3rd Round (รอบการแสดงสด หรือ Live Show) 

(อัพเดท เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม)

ผู้ผ่านเข้ารอบทั้ง 6 คนในแต่ละทีมจะได้ทำการแสดงสดบนเวที โดยผู้ชมทางบ้านจะเป็นคนลงคะแนนโหวตเพื่อเลือกผู้เข้าแข่งขันที่ชื่นชอบให้ผ่านเข้ารอบต่อไป และโค้ชเองก็ต้องเลือกผู้ที่ผ่านเข้ารอบต่อไปเช่นเดียวกัน จนถึงรอบสุดท้าย โค้ชแต่ละคนจะเฝ้าประคบประหงมผู้เข้าแข่งขันเพียงคนเดียวที่เหลืออยู่เพื่อประชันฝีมือกัน และผลตัดสินสุดท้ายจะมาจากการโหวตของคนทั่วประเทศหลังการแสดงถ่ายทอดสด ใครจะได้้เป็น The Voice เสียงจริง ตัวจริงคนแรกของประเทศไทย มาร่วมกันเกาะติดหน้าจอกันครับ

cr: the voice thailand facebook

cr: the voice thailand facebook

ในสัปดาห์แรกและสัปดาห์ที่สอง (วันที่ 11 และวันที่ 18 พฤศจิกายน) รอบ Live Round เป็นรอบที่คนดูจะทำการโหวตเลือกผู้เข้าแข่งขัน 2 คน และโค้ชเลือกอีก 2 คน ผลปรากฏว่า

ความเข้มข้นในรอบนี้เริ่มชัดเจนขึ้น ผู้เข้าแข่งขันพยายามปรับสไตล์ให้เข้าและเหมาะกับตัวเองมากสุด ในรอบนี้มีหลายคนแจ้งเกิดอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นน้องต๊ะ ที่กลายเป็นนักร้องลูกทุ่งขวัญใจแม่ยก พี่คิง เจ้าพ่อเพลงร๊อคพลังเสียงสุดปี๊ด แต่อีกอีก 2 คนที่ถือได้ว่ามีประกายเปล่งออกมาชัดเจนนั่นคือ แม๊กซ์ หนุ่มรูปงามเสียงใสเขย่าใจสาวแท้สาวเทียม และเก่ง ธชย ที่ถือได้ว่าเป็นคนรุ่นใหม่ ที่มีฝีไม้ลายมือแพรวพราวสุดๆ และสำหรับอาทิตย์นี้ นี่คือโชว์ที่ผมชื่นชอบเป็นที่สุด “ชู้…กับเวอร์ชั่นขับเสภา” ที่ทำเอาคนดูอึ้งกันไปตามๆ กัน

ส่วนในรอบ Quarter Final (วันที่ 25 พฤศจิกายน และวันที่ 2 ธันวาคม) เป็นรอบที่เริ่มลุ้นมากเข้าทุกที แต่ก็ดูเหมือนแต่ละทีมก็จะมีตัวเต็งรอไว้อยู่แล้วเหมือนกัน นั่งดูไปเพลินๆ ยังเผลอทายถูกครบทุกแมทช์

  • ในทีมของโค้ชก้อง ผู้ที่คนดูเลือกให้ไปต่อ คือน้องนนท์ (ขอบใจจริงๆ) ส่วนโค้ชก็ขอเลือกเจ้าตัวเล็ก น้องสวย (รักเธอจริงๆ) เธอร้องออกมาได้ลึกซึ้งกินใจสุดๆ ชอบๆ
  • ในทีมของโค้ชคิ้ม ผู้ที่ผู้ชมทางบ้านกดโหวตให้เป็นเบอร์หนึ่ง คือน้องต๊ะ (สาวจันทร์กั้งโกบ) ส่วนโค้ชคิ้มคงต้องเลือก ต๊ะ (เงียบ ๆ คนเดียว) แน่นอน
  • ในทีมของโค้ชโจอี้ คนดูเลือกให้เก่ง ธชย มาเป็นตัวเต็งหนึ่ง (บุษบา) ส่วนโค้ชก็ชงให้ฟิล์มได้ไปต่อ (พี่ชายที่แสนดี) เพลงนี้เล่นเอาน้ำตาซึมกันไปทั้งฮอลล์
  • ในทีมของโค้ชแสตมป์ คนดูเลือกให้น้องแม๊กซ์ตามความคาดเดา (เพียงชายคนนี้ไม่ใช่ผู้วิเศษ) ส่วนโค้ชก็คงต้องหนีบพี่คิงให้เข้ารอบไปก่อน (it’s my life – crazy in love)

ฟังเสียงทรงพลังมาก็เยอะ ชอบเกือบทุกเพลงเลยนะ แต่เพลงประจำสัปดาห์ที่ผมแอบลุ้น และให้กำลังใจห่างๆ อย่างห่วงๆ คือเพลงที่น้องฟิล์มร้องเพื่อขอบคุณพี่ชาย ซึ้งสุดๆ

ในรอบ Semi Final (วันที่ 9 ธันวาคม) ที่ผ่านมาถือเป็นรอบที่ตกตระกอนขึ้นเรื่อยๆ ผู้เข้าแข่งขันไม่ได้แค่เลือกเพลงตามแนวของตัวเอง แต่ยังมีความพยายามในการดีไซน์โชว์ออกมาเพื่อสะกดใจผู้ชม

cr: the voice thailand facebook

cr: the voice thailand facebook

เป็นที่น่าเสียดายว่าใน 8 คนนี้จะมี 4 คนที่ต้องจากเวทีนี้ไป เพราะเสียงคนดูและคะแนนของโค้ชจะเป็นเครื่องตัดสินว่าใครจะเป็นสุดยอด The Voice ของโค้ชแต่ละคน ผมชอบทุกโชว์ในสัปดาห์นี้

สวย ร้องและเต้นเพลง Hava Nagila ได้อย่างสุดตะลึง ตอนอำลาเวที น้องพูดได้ซึ้งกินใจมาก, ส่วนนนท์ก็เป่าคาถามหานิยม จนทั้งโค้ชและผู้ชมทางบ้านเลือกให้เป็นตัวแทนประจำทีมเพื่อไปฟาดฟันกับทีมอื่น ส่วนต๊ะ ก็เลือกร้องเพลงแนวที่ตัวเองถนัด ควักเอาเพลงอย่าขอหมอลำ มาผสมกับกลิ่นอายอินเตอร์นิดหน่อย Baby แม้ในช่วงประกาศผล โค้ชคิ้มจะเอนเอียงมาทางแต๊กกับเพลง Sky Fall มากหน่อย แต่ก็ไม่สามารถทานเสียงโหวตของมหาชนได้อยู่ดี น้องต๊ะเลยลอยลำเข้ารอบสุดท้ายอย่างไม่ต้องสงสัย

มาถึงทีมของโจอี้ ในสัปดาห์นี้ ฟิล์ม เลือกเพลง อย่าขอผม ซึ่งทำให้ดูดร็อปไปนิดนึง ส่วนเก่ง ธชย ฟอร์มดีไม่มีตก ทำเพลงจงรัก ประสานเสียงขลุ่ยได้งดงาม ผ่านฉลุยเข้ารอบ Final โรงเรียนโจ้ ส่วนของทีมแสตมป์ แม๊กซ์ กับ Come what may ดูจะเนิบไปนิดนึง ถ้าเทียบกับเพลงของคุณคิง แสงสุดท้าย ที่ยังโชว์ฟอร์มเสียงแน่นและสูงแบบไร้ที่ติ

สรุปในรอบ Final ที่จะออกอากาศในวันเสาร์ที่ 14 ธันวาคม ก็จะมี นนท์ ต๊ะ เก่ง และ คิง ที่เป็น 4 คนสุดท้าย ที่จะได้ลุ้นว่า ใครคือตัวจริงเสียงจริง เลือกไม่ถูกจริงๆ แต่ถ้าให้คาดเดา ผมว่าต๊ะมีแต้มต่อเหนือกว่า ไม่ใช่เพราะพลังเสียง แต่เป็นเพราะพลังโหวต ส่วนเก่งถึงแม้จะไม่ใช่ตัวจริง แต่คุณคือผลิตผลของความภูมิใจจากเวที The Voice ที่คนไทยชื่นชม ส่วนนนท์ก็แจ้งเกิดเป็นนักร้องลูกทุ่งโด่งดังแน่นอน ในขณะที่พี่คิงต่อจากนี้จะกลายเป็นคนที่งานชุกงานนึง แม้จะไม่โด่งดังสุดๆ แต่คนฟังต้องขนลุกกับเสียงคุณทุกครั้งที่ได้ยินเสียงปี๊ด สัปดาห์หน้าเรามาลุ้นพร้อมกันหน้าจอว่า ผลการตัดสินจะเป็นไปอย่างที่คาดเดาหรือไม่

บทวิเคราะห์รายการ The Voice เสียงสะท้อนของนักการตลาด

แม้ The Voice จะเป็น Reality Show สายพันธุ์ใหม่ที่ถือว่าค่อนข้างสมบูรณ์แบบเพราะว่าเอาจุดเด่นของ Game Show, Drama มาผสมกับกับความเป็น Reality ได้อย่างลงตัว แต่ก็ยังมีบางประเด็นที่ถือเป็นข้อแนะนำเพิ่มเติม อยากให้รายการถูกพัฒนาให้มันดูเท่ยิ่งๆ ขึ้นไปนะครับ

Product Tie-in (การยัดเยียดสินค้าให้ผู้ชมดู)

ตามแบบฉบับของ WorkPoint Entertainment ผู้เชี่ยวชาญในด้านการ tie-in สินค้าสปอนเซอร์เข้าไปในรายการเกมโชว์ต่างๆ มาพักหลังดูจะทำไม่ค่อยเนียนเท่าไหร่ โดยเฉพาะในรายการ The Voice Thailand ที่มีการตัดรายการเข้า Scoop โปรโมทสินค้าตอนช่วงใกล้จะประกาศผล มันเป็นอะไรที่ทำร้ายจิตใจคนดูมาก (คิดว่าดูรายการ 12 ราศี) แต่ถึงยังไงก็ดี การตัดเข้าโฆษณาตรงๆ ยังจะดีซะกว่าบังคับให้คนดู Tie-in scoop โดยหวังว่าคนดูจะเชื่อว่าผู้เข้าแข่งขันนั้นอินกับผลิตภัณฑ์ของสปอนเซอร์นั้นจริงๆ ดูมันจะเป็นการแถ ที่ทำให้รายการ Reality ขาดความขลังและเป็นธรรมชาติ  เดี๋ยวนี้เขาห้ามดูถูกผู้บริโภคเป็นเด็ดขาด อะไรที่เป็นการยัดเยียดมากไป นอกจากทำให้คนดูไม่ปลื้มแล้ว อาจทำให้ผู้บริโภคถึงขั้นเกลียดและแอนตี้ไม่ใช้สินค้านั้นไปเลยก็ได้ ขอไม่พูดถึงว่ามียี่ห้อไหนบ้างที่ทำออกมาแล้วดูไม่เนียน ฝากไว้พิจารณานิดนึงก่อนจะตัดสินเลือกทางทำลายแบรนด์ที่มีต้นทุนแพงจนเกินไป Creative ที่ดีต้องรู้จักสอดแทรกไอเดียใหม่ๆ นำเสนอรายการโดยใช้ความคิดสร้างสรรค์และจรรยาบรรณเป็นที่ตั้ง นักการตลาดที่ดีก็ต้องรู้จักแสวงหาโอกาสและจังหวะในการโปรโมทสินค้า โดยไม่กระทบความพึงพอใจของลูกค้า ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุด

ผู้สนับสนุนรายการ The Voice เป็นใครบ้าง ติดตามอ่าน 8 แบรนด์ดังทุ่มเงินไทด์-อิน The Voice  ได้จาก Brand Buffet ครับ

ล่าสุดแสนสิริก็ได้ทำการเปิดตัว ผู้เข้าแข่งขัน 6 คนจากรายการ The Voice ได้แก่ คุณเจนนี่ น้ำ เก่ง โอ๊ต แต๊ก และตุลย์ ให้มาเป็น Presenter ให้กับ The Base Condominium นับว่าเป็นสเต็ปที่น่าสนใจ เพราะตัดสินใจเลือก Brand Ambassador ตั้งแต่ยังไม่รู้ผลว่าใครจะก้าวเข้าไปสู่รอบสุดท้าย แต่ถ้าทั้ง 6 เป็นตัวแทนกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่ตรงและโดนแล้ว ตำแหน่งหรือรางวัล The Voice ตัวจริง เสียงจริง คงไม่ใช่สาระสำคัญ

Judge’s Decision (ผลการตัดสินค้านความรู้สึกคนดู)

เนื่องจากผู้เข้าแข่งขันทุกคนนั้นมากด้วยความสามารถ แถมต่างก็มีแฟนคลับเป็นของตัวเองอีกด้วย คำตัดสินของกรรมการบางครั้งจึงอาจไม่สอดคล้องกับความรู้สึกของคนบางกลุ่ม ยิ่งในรอบลึกๆ ด้วยแล้ว คำตัดสินในบางนัดอาจไม่เพียงค้านสายตาคนดูและหูของคนฟัง แต่อาจทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างถึงความโปร่งใส ความได้เปรียบเสียเปรียบของผู้แข่งขันที่เป็นมวยคนและรุ่น  ในรอบ Battle  มีอยู่หลายโชว์เหมือนกันที่โค้ชไม่ได้เลือกผู้เข้าแข่งขันที่ Perform ได้ดีที่สุดในโชว์นั้น แต่เลือกคนที่เล็งเห็นว่ามีโอกาสแก้ตัวใหม่เพื่อไป Battle กับทีมอื่นในรอบถัดไป (แอบเสียความรู้สึกเล็กน้อย ซึ่งโค้ชเองก็อาจมีเหตุผลอื่นที่ไม่ได้บอกไว้ในรายการ)

การเลือกเพลงและจับคู่ Battle ของโค้ชนั้นก็เช่นกัน เป็นอะไรที่มีผลต่อชะตาชีวิตของผู้เข้าแข่งขันมาก เพราะถ้าถูกคัดออกแล้ว ต่อให้ฝีมือเจ๋งแค่ไหนก็ไม่สามารถถูกโหวตกลับเข้ามาได้อีก จริงอยู่ที่ผู้เข้าแข่งขันที่ดีไม่ว่าจะได้รับโจทย์อะไรก็ควรจะต้องหาสไตล์ตัวเองที่เหมาะกับเพลงนั้นให้ได้ แต่เท่าที่สังเกตดูมีหลายโชว์เหมือนกันที่รู้สึกเสียดายแทน เพราะผู้เข้าแข่งขัน ได้โจทย์เพลงยากจนทำให้ตัวเองไม่สามารถเปล่งรัศมีออร่าออกมาได้เหมือนในรอบ Blind Audition ขอฝากโค้ชเลือกเพลงให้สมน้ำสมเนื้อหน่อยนะครับ เพราะถ้าโจทย์เพลงเอื้อกับคนใดคนหนึ่งมากไป ก็เท่ากับเป็นการตัดอนาคตผู้เข้าแข่งอีกคนหนึ่งไปโดยปริยาย นับว่าเสียดายของ(ดี)มากๆ

ถึงแม้ว่าโค้ชจะถือสิทธิ์ในการใช้วิจารณญาณส่วนตัวในการเลือกเพลงและให้เกรดผู้เข้าแข่งขันแต่ละคนโดยไม่จำเป็นต้องอาศัยหลักเกณฑ์ตายตัว แต่คำตัดสินรอบลึกๆ เห็นทีจะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะถ้าไม่สามารถให้เหตุผลที่ดูหนักแน่น มีหวังโค้ชถูกรุมกินโต๊ะแน่ๆ แต่ถึงยังไงก็ดีก็ต้องขอชมว่าโค้ชหรือกรรมการตัดสินในรายการนี้ดูน่าเชื่อถือกว่าหลายรายการที่ผ่านมา

Hostile Battle (ประสานเสียงหรือประสานงา)

บางโชว์นั้นเน้นห้ำหั่น เชือดเฉือนด้วยการโชว์พลังเสียงที่มากจนเกินไป ทำให้แทนที่จะฟังแล้วไพเราะ กลายเป็นฟังแล้วอึดอัดและเครียดมากกว่า ผมชอบคำเปรียบเทียบของคุณคิ้มใน 2 week ที่ผ่านมาที่บอกว่า “เหมือนการเปิดขวดแชมเปญแล้วขวดแตก หรือฝาหม้อที่ถูกกระแทกตอนน้ำเดือดผุดๆ”  ในรอบ Battle วีคแรก ยังพอมีอาการนี้ให้เห็น มาค่อยดีขึ้นในวีคที่สอง เมื่อผู้เข้าแข่งขันเริ่ม relaxed โดยหันมาเน้นทำโชว์ให้สนุกมากกว่าแข่งขันกันแบบเอาเป็นเอาตาย จริงๆ แล้วอาจไม่ใช่ความผิดของผู้เข้าแข่งขันซะทีเดียว โค้ชเองก็มีส่วนรับผิดชอบที่ทำให้โชว์มันออกมาเป็นแบบนี้ เว้นแต่ผู้เข้าแข่งขันแอบจัดเต็ม พลิกแพลงสไตล์หน้าไมค์ ไม่เป็นไปตามที่ซ้อม

Deteriorating Rating (ระดับความลุ้นตกลงเมื่อใบหน้าถูกเปิดเผย)

ตามที่คาดเดา คนดูจะลุ้นชิดติดขอบจอในรอบแรกๆ และจะค่อยดร็อปลงเรื่อยๆ ซึ่งสวนกระแสความเป็นจริงของ Talent Show ทั่วไป เหตุผลง่ายๆ ก็คือเราชอบเชียร์มวยรอง ความลุ้นมันเกิดขึ้นตอนที่เราส่งใจไปเชียร์ให้ผู้แข่งขัน(ทุกคน)ได้เข้ารอบ การตัดต่อเทปในรอบ Blind Audition ถึงแม้จะไม่ใช่การแสดงสดแต่มันทำให้เราเคลิ้มกับทุกโชว์ที่ผู้เข้าแข่งขันพยายามแสดงความเป็นตัวเองออกมาให้ดูเข้าใจง่ายและชัดเจน พอมาในรอบถัดไป Battle Round ความเป็นธรรมชาติมันเริ่มลดน้อยลง โชว์เริ่มถูกปรุงแต่ง สุนทรียในการชมเริ่มถูกรบกวนด้วยปัจจัยต่างๆ นาๆ คะแนนเสียงโหวตเริ่มเบี่ยงเบนมาทาง หน้าตา/การแสดงออกของผู้เข้าแข่งขัน เข้าสูตรเดิมคือ (หล่อ/สวย/ตลก/น่าสงสาร) รวมถึงรสนิยมและความชื่นชอบตามสไตล์ของโค้ชแต่ละคน โค้ชบางคนไม่ได้เลือกคนที่แสดงดีที่สุดในโชว์นั้น แต่เลือกคนที่มีศักยภาพในการแข่งขันในรอบถัดไป อันนี้ก็ทำให้เกิดดราม่าพอสมควร ตั้งแต่โค้ชจับคู่ได้ไม่เหมาะ เลือกเพลงไม่เข้าปาก จนถึงขั้นโค้ชอาจตัดสินใจเลือกใครบางคนก่อนแล้วตั้งแต่ยังไม่ออกโชว์ ทีนี้แทนที่มันจะเป็นการแข่งขันของนักร้อง มันกลายเป็นการประกวดความสามารถของโค้ชซะงั้น

พอมาถึงรอบ Live Round  เรตติ้งก็เริ่มตกลงไปอีก เพราะว่ามันเป็นเวทีสด (ทำให้ไม่สามารถวางสคริปต์ได้เป๊ะเหมือนรอบที่ผ่านมา) เพลงที่เลือกมาแข่งเริ่มไม่โดนใจตลาดแมส (ทั้งผู้เข้าแข่งขันและโค้ชพยายามเลือกเพลงที่ยากและใช้เทคนิคที่แปลกขึ้นในการร้อง เป็นเหตุให้คนดูกลุ่มใหญ่เริ่มฟังไม่ค่อยสนุก) ผลการตัดสินมันอาจมี Bias หรือความลำเอียงปนทั้งในฝั่งผู้ชมทางบ้าน (เพราะใช้แบบเดียวกันกับการประกวดทั่วไป ซึ่งขัดกับ DNA ของรายการ คือการใช้ความเป็นธรรมด้วยหูไม่ใช่สายตาในการตัดสิน) และฝั่งโค้ช (ความชื่นชอบหรือความสนิทสนมส่วนตัว เมื่อมีโอกาสใกล้ชิดและได้ร่วมงานกับลูกทีมตั้งแต่รอบที่ผ่านมา) แต่ไม่ว่าจะยังไง รายการนี้ก็ได้แจ้งเกิดไปแล้ว ถือเป็นทางเลือกใหม่ ของคนเริ่มเบื่อเวที the STAR, AF และ TGT

สูตรเฉพาะที่ไม่ลับของ The Voice

ต้องชื่นชมคนต้นคิดรายการนี้ แม้การประกวดร้องเพลงจะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่พอยุคสมัยผ่านมาการนำเครื่องปรุงรสมาโรยบนวัตถุดิบคุณภาพแล้ว มันทำให้อาหารจานนี้เด็ดจนวางไม่ลง ถ้าจะให้ถอดรหัสแซบของรายการนี้ ผมของสรุปง่ายๆ ด้วยคำ 4 คำนี้คือ รายการนี้เป็นรายการที่ ลงตัว ทำให้คุณ ลืมตัว ลุ้นระทึก และสนุกได้หลากหลาย

Qualifications (คุณสมบัติที่ใครๆ ก็เป็นได้)

คุณสมบัติที่ค่อนข้างเปิดกว้างถือเป็นจุดขายของรายการนี้ อายุ 16-60 ปี ไม่เน้นหน้าตา เอาแต่เสียงร้องที่เพราะหรือแปลกกว่าชาวบ้านทั่วไป จะถ่ายคลิปแบบปิดหน้าตามาก็ไม่ว่ากัน ขอเพียงแค่ไม่ได้เป็นศิลปินที่มีสัญญาผูกมัดอยู่กับค่ายใด พอตัดเรื่องหน้าตาออกไป มันเหมือนกดปุ่ม unlock talent เลยก็ว่าได้ เพราะว่าคนหน้าตาธรรมดา หรือคนที่หน้าตาไม่ดีบางคนเหมือนได้รับพรสวรรค์บางอย่างติดตัวมาตั้งแต่เกิด พอได้จับไมค์ร้องเพลงเท่านั้น หล่อและสวยขึ้นมาเลยทีเดียว แค่เงื่อนไขเล็กๆ ตรงนี้ ทำให้ The Voice สามารถเลือกเฟ้นผู้เข้าแข่งขันที่มีคุณภาพได้มากกว่าเวทีการประกวดร้องเพลงทั่วไป

เท่าที่ดูมีอยู่หลายคนที่มีอาชีพเป็นนักร้องอยู่แล้ว เช่นคุณเกล/คุณสุเมธ หรือบางคนแม้จะไม่เคยออกอัลบั้มแต่ก็มีประสบการณ์ร้องเพลงตามผับตามบาร์ จะด้วยสปิริตหรือเพราะว่าอายุเกินก็แล้วแต่ คนเหล่านี้จึงถูกดองไว้ไม่ได้ไปประกวดที่เวทีไหนอีก จนกระทั่ง The Voice เข้ามาตอบโจทย์ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเราเจอคนร้องเพลงดีมากมายมารวมตัวกันในรายการนี้ แต่ก็ยังแอบเป็นห่วงว่าใน Season ถัดไป คนร้องเพลงระดับเทพจะค่อยๆ ลดน้อยลงไปหรือไม่

Unique & Outstanding Character (มีจุดเด่น ความคิดสร้างสรรค์ที่ชัดเจน)

แม้จะเป็นหนึ่งในเวทีประกวดการร้องเพลง แต่พอได้เห็นผู้ที่ถูกคัดเลือกเข้ามาในสู่ในรอบ Blind Audition แล้วต้องบอกว่าของเขาดีจริงๆ คือผู้เข้าแข่งขันแต่ละคนนอกจากจะมีเสียงทรงพลังเป็นทุนแล้ว เนื้อเสียงเขาสวย หล่อ ใส และเป็นเอกลักษณ์ ชนิดที่ว่าหาตัวจับได้ยากมาก การแสดงในช่วงเวลาสั้นๆ ทำให้คนฟังถึงกับต้องอึ้งว่า คนเหล่านี้ไปอยู่ที่ไหนกันมา ทำไมไม่เคยได้ออกอัลบั้มกับค่ายไหน รายการ The Voice Thailand จึงเป็นรายการแรกที่ทำให้เราได้ฟังเพลงจากนักร้องผู้มีพรสวรรค์ที่แตกต่างกันไป บางคนร้องเพลงฝรั่งได้เพราะเหมือนคนผิวดำ บางคนแต่งหญิงร้องเพลงชาย แต่งชายร้องเพลงหญิง มีทั้งเพลงจีน ลูกทุ่ง สากล แม่ไม้เพลงไทย การ์ตูน ปะปนกันไปมา เหมือนทุกคนทำการบ้านมาดี เลือกเพลงที่เข้ากับปากของตัวเอง

Spontaneous Comment (การชม การแหย่ การวางมุขของโค้ช)

แรกๆ แอบสงสัยว่าทีมงานใช้อะไรเป็นเครื่องตัดสินว่ากรรมการหรือโค้ชควรเป็นใครบ้าง ไม่แปลกใจที่จะมีคุณคิ้มเป็นหนึ่งในนั้นเพราะว่าคุณภาพเสียงร้องนั้นไม่เป็นที่สงสัย ส่วนโจอี้บอยก็ตอบโจทย์อยู่แล้วเรื่องความเป็นคนแนวๆ มีไอเดียบรรเจิดไม่เหมือนใคร แต่ผมงงว่าทำไมจึงเป็นคุณก้อง และคุณแสตมป์ ทั้งๆ ที่ชื่นชอบผลงานของทั้งสอง แต่ก็เพราะเคยชินกับการเห็น commentators  แบบแรงๆ กวนๆ และแอบเพี้ยนในบางมุม เหมือนใน The Star, AF และ Thailand’s Got Talent  แต่พอดูไปเรื่อยๆ เฮ้ยมันกลับเวิร์คและลงตัวมาก ทั้งหมดนี้ต้องให้เครดิตกับทีมงานที่ช่วยวางสคริปต์และบุคลิกของโค้ชทั้ง 4 ได้พอดิบพอดีไม่ล้นจนเกินไป อันนี้คงไม่ใช่เรื่องบังเอิญแน่ๆ

  • เจนนิเฟอร์ คิ้ม (เจ้าแม่เสียงทรงพลัง ถูกวางให้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านคุณภาพเสียงร้อง)
  • ก้อง สหรัฐ สังคปรีชา (นักร้องขวัญใจแม่ยก ถูกวางให้เป็นหนุ่มที่สาวๆ ต่างหมายปอง อยากอยู่ใกล้ชิดด้วย)
  • โจอี้ บอย (ขาแร็ปตัวพ่อ ถูกวางให้เป็นคนเจ้าเสน่ห์ ชอบของแปลก ใช้เทคนิคแหวกแนว)
  • แสตมป์ อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข (นักแต่งเพลง ผู้ชายขี้เล่นที่มีคารมคมคาย ถูกวางให้เป็นนักออกแบบโชว์ด้วยความคิดสร้างสรรค์)

ผมเคยดูคอนเสิร์ตคุณคิ้มอยู่บ่อยๆ ปกติเป็นคนที่ปากรั่วมาก ตลกโปกฮาลงเบื้องล่างตลอด ต่อพอมาในรายการนี้ พูดจาดูน่าฟัง ฉลาด ดูดี แอบเห็นวลีเด็ดออกจากปากคุณคิ้มอยู่บ่อยๆ อันนี้ขอชมจากใจจริง สำหรับโจอี้ บอย คนนี้ไม่ต้องพูดถึง เพราะเขามีความเป็นธรรมชาติอยู่ในตัว ไม่ต้องปรุงแต่งอะไรเยอะ มีการแทรกมุขเด็ด ปล่อยหมัดแย็บออกมาเป็นช่วงๆ ยังคิดอยู่ว่าทำไมไม่ถูกจีบมาเป็น commentator ของรายการอื่นบ้าง คุณก้องเป็นคนพูดน้อย ไม่เน้นพูดแข่งกับสองคนก่อนหน้านี้ แค่ส่งสายตาหวานๆ สาวๆ ก็ละลายแล้ว สมกับที่ถูกวางให้เป็นหนุ่มช่างฝัน ส่วนคนสุดท้ายคุณแสตมป์ ไม่คิดว่าจะมาโด่งดังเปรี้ยงปร้างแจ้งเกิดในรายการนี้ คนอาจรู้จักเขาในฐานะนักแต่งเพลงสุดฮิป แต่พออยู่ในรายการนี้เขาเป็นน้องใหม่ที่มีความสดและโดดเด่นกว่าใคร ด้วยคำพูดที่น้อยคำแต่ถ้าแลกหมัดกับรุ่นใหญ่ เผลอๆ คุณแสตมป์อาจเป็นโค้ชที่ปล่อยหมัดน็อคเอาท์มากที่สุดในรายการ

มาดูโชว์เปิดตัวของโค้ชทั้ง 4 คนกันหน่อยครับ

Bias Avoidance (ลดภาพความลำเอียงในรอบ Blind Audition)

คนเราพอได้เห็นหน้าตา มันก็ลำเอียงไปกว่าครึ่งแล้ว The Voice แก้โจทย์ตรงนีี้ได้ดีมาก (เฉพาะในรอบแรก) เพราะไหนๆ ก็ขึ้นชื่อว่าเป็นรายการที่เน้นเสียงร้องแล้ว เราเองควรจะเชื่อหูตัวเองมากกว่าหน้าตา เกมนี้มันดีไซน์ออกมาให้ลุ้นตอนที่โค้ชจะตัดสินใจเลือกกดปุ่มหันหน้ามาดูผู้เข้าแข่งขันหรือไม่ ความรู้สึกลุ้นของกองเชียร์และผู้ชมทางบ้านมาเฉลยตอนที่มีโค้ชคนใดคนหนึ่งกดปุ่ม จริงๆ มันเป็นความรู้สึกโล่งเสียมากกว่า มันมาลุ้นอีกทีคือตอนที่โค้ชทั้ง 4 คนต่างหมายปองผู้เข้าแข่งขันคนเดียวกัน มันเปรียบเสมือนถูกรางวัลที่หนึ่งก็ว่าได้ เพราะไม่เคยคิดไม่เคยฝันว่าจะเป็นฝ่ายเลือกคนอื่นบ้าง

สำหรับผม Climax ของรายการนี้มันคือช่วงตอนต้นคือรอบ Blind Audition ถัดจากรอบนี้ไม่ว่าจะเป็นรอบ  Battle หรือ Live มันอาจไม่สนุกเท่าเก่า มันมีปัจจัยกดดันด้านอื่นเข้ามาผสมโรงด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเลือกเพลงและรสนิยมของโค้ชที่อาจไม่ถูกใจผู้ชมทางบ้าน การแสดงหรือ Acting ที่อาจนำคุณภาพเสียงร้อง หรือแม้กระทั่งผลโหวตจากผู้ชมทางบ้านซึ่งเป็นคะแนนมหานิยมมากกว่าการตัดสินที่คุณภาพเพียงอย่างเดียว

Social Media (อิทธิพลและพลังของสื่อโซเชียล)

พลังของ Social Media น้นมีผลมากต่อการทำให้รายการ The Voice Thailand เป็นรายการยอดฮิตติดลมบนในช่วงเวลานี้ เริ่มจากการปล่อยคลิป viral เพื่อ recruit หรือประกาศรับสมัครผู้เข้าแข่งขันในรอบก่อน Blind Audition ผ่านทาง Youtube หรือการเดินสาย Road show ในจังหวัดต่างๆ มีการทำแถลงข่าวเปิดตัว การทำ Preview โปรโมทรายการผ่านช่องทางเวบไซต์ The Voice Thailand การปล่อยข้อมูลข่าวสารผ่านหน้าหน้า Twitter @thevoicethai และ TheVoiceThailand FB FanPage

นอกจากนี้แฟนๆ ยังสามารถติดตามความเคลื่อนไหวผ่าน V Reporters และคอมเมนต์ของโค้ชได้ทาง @JKim4real @StampApiwat @joeybangkokboy และ @KongSaharat_  และเชิญชมภาพเบื้องหลังการแข่งขัันได้ทางเวบ The Voice Thailand เลยครับ (คลิ๊กที่ลิงค์นี้)

วิธีการเหล่านี้ถือเป็นการทำ Customer Engagement  แบบหนึ่ง โดยเฉพาะช่วงกำลังเผยแพร่ออกอากาศทางช่อง 3 ในวันอาทิตย์ เวลา 17:45-19:30 น. จะมีคนในโซเชียลจะร่วมแสดงความคิดเห็นบน Twitter ด้วยการติด tag #TheVoiceTH นี่ยังไม่นับการ share Youtube clip ของผู้เข้าประกวดต่างๆ บางคลิปมียอดวิวสูงถึงหลักล้านวิวเลยอ่ะ

ปรากฎการณ์ของ The Voice Thailand จะเป็นอย่างไรต่อไป ผมจะคอยเข้ามาอัพเดทบล็อกนี้ ถึงผลการตัดสินในรอบต่างๆ ขอให้เพื่อนๆ ได้เพลิดเพลินไปกับการดื่มด่ำอรรถรสของเสียงเพลงโดยไม่ต้องใช้หน้าตาเป็นใบเบิกทาง ขอสนับสนุนให้คนดีมีความสามารถได้แจ้งเกิด สมศักดิ์ศรีของการเป็นนักร้องมืออาชีพที่ไม่จำเป็นต้องมีดีกรีสูตรสำเร็จตามแบบฉบับของอาชีพนักร้องที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ลิงค์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับรายการ The Voice

 

Tags: , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , , ,